วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551



ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย ในฤดูฝนมีฝนตกชุก อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี



พืชพรรณและสัตว์ป่า
ป่าคลองลานยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งสุดท้ายในด้านทิศใต้ของภาคเหนือ ประกอบด้วยชนิดป่าต่างๆ คือ
ป่าดิบแล้ง ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 500 เมตรขึ้นไป เช่น ขุนคลองลาน ขุนคลองสวนมาก ขุนคลองขลุง ขุนน้ำเย็น ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน สมพง ยมหอม พะยอม สมอพิเภก ฯลฯ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ กระทิง กวางป่า หมูป่า ชะนีมือขาว หนูหริ่งไม้หางพู่ ปาดลายพื้นเมืองเหนือ กบห้วยขาปุ่ม เต่าปูลู กิ้งก่าบินคอแดง ฯลฯ
ป่าดิบเขา จะพบป่าชนิดนี้ตามเขาที่มีความสูงตั้ง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไปมีพื้นที่ไม่มากนัก
ป่าเบญจพรรณ ถือว่าเป็นป่าส่วนใหญ่ของอุทยาน พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง ชึงชัน และไผ่ชนิดต่างๆ ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบในถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทนี้ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง ตะกวด ฯลฯ
ป่าเต็งรัง พบในระดับความสูงประมาณ 400 - 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล กระจายอยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยาน ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง ยางกราด ยอป่า สมอพิเภก ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบในป่าประเภทนี้ได้แก่ เขียดหลังปุ่มที่ราบ เขียดอ่อง อึ่งปากขวด เก้ง เป็นต้น
ไร่ร้าง พบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติ ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ได้อพยพชาวเขาเหล่านี้มาอยู่พื้นที่ราบที่ทางราชการจัดสรรให้ ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา พื้นที่จึงกลายเป็นไร่ร้าง และทุ่งหญ้า ที่มีการฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ และพื้นที่บางส่วนได้รับการฟื้นฟูจากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ

พื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะ กระทิง นอกจากนี้ยังพบสัตว์ขนาดเล็กจำพวกกระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาว กระรอก หนูฟันขาว และหนูขนเสี้ยน ส่วนในบริเวณที่เป็นถ้ำ หลืบหิน และหน้าผา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเฉพาะชนิด เช่น เลียงผา ค้างคาวปีกถุงเคราแดง ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ และค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ์ เป็นต้น พื้นที่บริเวณริมลำห้วย และลำคลองที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งที่หลบซ่อนหรือถิ่นอาศัยหากินของสัตว์หลายประเภท ได้แก่ กบทูด อึ่งกรายลายเลอะ ตะพาบธรรมดา ปลาสลาด ปลาเวียน และปลาติดดิน เป็นต้น